Categories
กระทรวงพลังงานเตรียมแผนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป ( Solar Rooftop) ทั้งในรูปแบบที่ให้ขายเข้าระบบ และติดตั้งเพื่อใช้เอง กว่า1,000 เมกะวัตต์ หวังลดพีคไฟฟ้าช่วงเวลากลางวันและรองรับวิกฤตก๊าซธรรมชาติ ช่วงปี2564-2566
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า แนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป , Solar Rooftop) นั้น เพื่อลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ช่วงกลางวัน และเป็นส่วนหนึ่งของแผนเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตก๊าซธรรมชาติ ในปี2564-2566 โดยมีเป้าหมายการส่งเสริมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะดำเนินการทั้งรูปแบบโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่ให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าใช้เองและจำหน่ายส่วนที่เหลือ เข้าระบบ และแบบที่ให้เอกชนติดตั้งเพื่อใช้เอง โดยจะต้องมีการพิจารณาวางแผนระบบสำรองไฟฟ้า(back up) เพื่อรองรับความไม่เสถียรของไฟฟ้าที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย
ทั้งนี้ในแผนการเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตก๊าซธรรมชาติ ปี 2564 – 2566 จากการที่คาดว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะลดปริมาณลงเพราะเป็นช่วงรอยต่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 แหล่งทั้งเอราวัณ และบงกช ที่จะหมดอายุปี 2565-2566 นั้นจะหายไปราว 2 ล้านตันเทียบ หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหายไป 1,700 เมกะวัตต์ โดยในช่วงดังกล่าว รัฐไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันตามแผน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเอาไว้ในหลายๆทาง ซึ่งคาดว่าแผนในรายละเอียดจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.-ต.ค.นี้
โดยในส่วนของการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Side) นั้นนอกจากจะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป เพื่อลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ช่วงกลางวัน แล้ว ยังจะต้องมีมาตรการความร่วมมือเพื่อการลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response -DR) เพื่อลดใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ภาครัฐกำหนดด้วย นอกจากนี้ยังจะต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า(Supply Side) ได้แก่ การเจรจาเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเสริม ในส่วนของไฟฟ้า จาก สปป.ลาว ซึ่ง มีความเป็นไปได้ที่จะรับซื้อเพิ่มราว 500-600 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ที่โครงการจะแล้วเสร็จก่อนกำหนดในปี 2564 จากเดิมปี 2565 และโครงการไซยะบุรี ที่จะส่งไฟฟ้าให้ไทยพิ่มขึ้น รวมทั้งการพิจารณารับซื้อก๊าซธรรมชาติจากมาเลเซียในโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) เพื่อนำมารองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ 3 จ.สงขลา ขนาด 800 เมกะวัตต์ โดยมาเลเซียพร้อมที่จะจัดส่งก๊าซฯให้ไทย แต่ยังต้องเจรจาในรายละเอียดต่อไป
ที่มา: http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/779
Date : 04/06/2017
» Do not allow new products at this time.