Categories
ยุบสภาทำป่วนโครงการโซลาร์รูฟท็อปเดินหน้าต่อไม่ได้ ส่งผลกระทบชาวบ้านและอาคารธุรกิจที่ยื่นขอขายไฟฟ้ากว่า 6 พันราย เม็ดเงินลงทุนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท รอเก้อบางรายเริ่มขอถอนตัว ขณะที่ผู้รับเหมาติดตั้งเคว้ง ต้องรับภาระหนักจากออร์เดอร์แผงโซลาร์เซลล์ที่สั่งมาแล้วทำงานไม่ได้เริ่ม ขาดสภาพคล่อง
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปจำนวน 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 100 เมกะวัตต์และอาคารธุรกิจ 100 เมกะวัตต์ ของกระทรวงพลังงานไม่สามารถดำเนินการได้ จากเดิมที่จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในสิ้นเดือนมกราคม 2557
ทั้งนี้เนื่องจากติดปัญหากรณีที่โซลาร์รูฟท็อปที่มีขนาด 3.7 กิโลวัตต์ขึ้นไป เข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ 3 ตามพ.ร.บ.โรงงานพ.ศ.2535 ที่ห้ามตั้งโรงงานทุกประเภทในบริเวณบ้านจัดสรรเพื่ออยู่อาศัย อาคารชุดพักอาศัยและบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย การจะดำเนินการได้จะต้องได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการหรือรง.4ก่อน หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยที่ผ่านมาได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.) พยายามหาทางออกปัญหาดังกล่าว ที่จะแก้ไขกฎกระทรวงให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป กำลังผลิตไม่เกิน20 กิโลวัตต์ จัดเป็นโรงงานประเภทที่ 2 ไม่ต้องขอรง.4 กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม
อีกทั้งจะต้องแก้ไขกฎกระทรวงที่ห้ามโรงงานทุกประเภทในบริเวณบ้านจัดสรร เพื่อการพักอาศัย อาคารชุดอาศัย บ้านแถวเพื่อการอาศัย และสถานที่ตั้งต้องอยู่ห่างจากเขตติดต่อสาธารณะสถาน เช่น โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา วัดหรือศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการของหน่วยงานรัฐไม่น้อยกว่า 50 เมตร
นอกจากนี้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปถือว่าเป็นโรงงานจึงต้องไปแก้ไขกฎหมายผัง เมือง เพื่อขอผ่อนผันให้สามารถตั้งอยู่ในเขตชุมชนได้ ซึ่งจะต้องไปเจรจากับกรมโยธาธิการและผังเมือง เสนอเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ก่อมลพิษ และนำเสนอรัฐบาลพิจารณา
"เมื่อมีคณะรัฐมนตรีรักษาการทำให้ทุกอย่างสะดุดไม่สามารถนำข้อกฎหมายเข้า สู่การพิจารณาในครม.ได้ อีกทั้งการแก้ปัญหากฎกระทรวง และกฎหมายผังเมืองอาจต้องใช้เวลานาน ดังนั้นการที่ประชาชนหรืออาคารชุดที่เสนอยื่นขอติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไป แล้วจะต้องรอแก้ไขกฎหมายต่างๆเสร็จเรียบร้อยก่อน"
ศ.ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีบ้านพักอาศัยเข้ามายื่นขอติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปประมาณ 6.040 พันราย คิดเป็นกำลังผลิต 52.29 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจจำนวน 201 ราย กำลังผลิต100 เมกะวัตต์ ยอมรับว่าขณะนี้การติดตั้งยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายของกรมโรงงานฯและกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยที่ผ่านมากรมโรงงานฯยอมแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว ส่วนการแก้กฎผังเมืองยังอยู่ในขั้นเจรจาเพื่อเสนอเพิ่มประเภทโรงไฟฟ้าที่ไม่ ให้เกิดมลพิษและใช้พลังงานทดแทนบางประเภทให้สามารถตั้งอยู่ในเขตชุมชนได้ แต่เมื่อยุบสภา ยิ่งทำให้การแก้กฎหมายต่างๆล่าช้าออกไปอีก
ด้านนายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าหลังจากที่นโยบายส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปต้องหยุดชะงักเนื่องจากติด กฎหมายผังเมืองและรง.4 ทำให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งคาดว่าจะต้องยืดระยะเวลาขายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ออกไปอีก 1-2 ปี จากเดิมที่ตั้งเป้าจะขายไฟฟ้าให้ได้ภายในเดือนมกราคม 2557 และจากการสอบถามผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ติดตั้งแผงเซลล์ กำลังได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะไม่สามารถเดินหน้างานรับเหมาดังกล่าวได้
"เรื่องนี้ได้สอบถามไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีก็ยอมรับว่าCOD ต้องเลื่อนออกไป เพราะไปติดกฎหมายของหลายกระทรวง ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบโดยเฉพาะรายเล็กที่ตั้งใจจะเปิดกิจการเพื่อ รองรับโครงการนี้ เมื่อชะงักไปแบบนี้ก็น่าเห็นใจ คาดว่าความเสียหายทั้งระบบคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท"
เช่นเดียวกับนางวันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้สั่งออร์เดอร์ของแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อมาติดตั้งโซลาร์รู ฟท็อปแล้วประมาณ5 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าราว300 ล้านบาท มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ผู้รับเหมารายเล็กที่สั่งของเข้ามาแล้วแต่ยัง ไม่ได้ติดตั้งเริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงินแล้ว
"สำหรับเอสพีซีจีเป็นบริษัทใหญ่และมีโครงการทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาประมาณ 40 เมกะวัตต์ หากสะดุดลง หรือต้องยกเลิกโครงการก็ไม่มีปัญหา เพราะสามารถนำแผงโซลาร์เซลล์ไปใช้ในโรงไฟฟ้าได้ ขณะที่รายเล็กต้องแบกรับออร์เดอร์ที่สั่งเข้ามาซึ่งจะได้รับความเสียหาย มากกว่า
ด้านนายสุวิทย์ ธรณินทร์พาณิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิแทลลิค จำกัด และในฐานะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการรับเหมาติดตั้งแผงเซลล์ได้รับความเดือดร้อนอย่างจากการ เลื่อนซีโอดีโครงการโซลาร์รูฟท็อป โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กหรือเอสเอ็มอี เพราะบางรายตุนสินค้าไว้บางส่วนแล้ว แต่สต๊อกในมือคงไม่มาก ขณะที่การตกลงกันระหว่างภาครัฐก็ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าได้
"ตอนนี้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เนื่องจากซีโอดีต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี และยิ่งมีการยุบสภา คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการตกอยู่ในภาวะขาดทุนเป็นแถว ลูกค้าบางรายเมื่อไม่มีความชัดเจนก็ทยอยถอนตัวบ้างแล้ว ดังนั้นจึงต้องหารือกับกกพ.ว่าจะทำอย่างไรเพื่อเป็นวันสต็อปเซอร์วิส เพราะรัฐบาลได้มอบอำนาจให้กกพ. ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะให้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้
ที่มา: จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,907 วันที่ 22 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556
» Do not allow new products at this time.