Categories
คนไทยร้องจ๊ากค่าไฟจ่อพุ่ง5บาท จากผลการคำนวณแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุด
แนวโน้มค่าไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุงใหม่ หรือ PDP 2557-2573 มีสิทธิ์ทะลุ 5 บาท หลังการคำนวณเบื้องต้นของ สนพ. 3 แนวทาง เน้นเชื้อเพลิงถ่านหิน-นิวเคลียร์ เพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดจากอ่าวไทย ขณะนี้รอความชัดเจนตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) รอบใหม่ เตือนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเสี่ยงด้านความมั่นคง
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ หรือ PDP (Power Development Plan) ปี 2557-2573 ว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการค่าพยากรณ์ครั้งล่าสุด ยังไม่สามารถระบุค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load-forecast) ฉบับใหม่ได้ แม้ว่าจะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดใหม่ (Peak) ไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน
ที่ผ่านมาถึง 26,942 เมกะวัตต์ (ทำลายสถิติ Peak ปีก่อนที่ 26,598.1 เมกะวัตต์) ไปแล้วก็ตาม แต่ สนพ.ยังเชื่อมั่นว่าอาจจะเกิด Peak ขึ้นใหม่อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ฉะนั้นทาง สนพ.จึงเห็นควรที่จะรอให้ได้ตัวเลขความต้องการใช้ไฟที่ชัดเจนก่อน เพื่อให้แผน PDP คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในการหารือเพื่อจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ สนพ.ยังคงยึด 3 ทางเลือกคือ 1) ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ หันมาใช้กำลังผลิตจากถ่านหินเป็นหลักและเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ 2) กำลังผลิตหลักจะมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ (ไม่มีก๊าซ) และ 3) เน้นการใช้พลังงานทดแทนและการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าตามแผน PDP ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (ปี 2555-2557) จะอยู่ระหว่าง 4-4.50 บาท/หน่วย ซึ่งจัดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่ สนพ.จะต้องคงไว้ในแผน PDP ฉบับใหม่ด้วย
(ปี 2557-2573) แต่ถ้าหากพิจารณาจากอัตราค่าเชื้อเพลิงในปัจจุบันโดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นแล้วมีความเป็นไปได้ว่าอัตราค่าไฟฟ้าในแผน PDP ฉบับใหม่จะพุ่งขึ้นสูงระหว่าง 4.50-5 บาท/หน่วยในช่วงท้ายแผนได้
"โจทย์สำคัญของแผน PDP ฉบับใหม่จึงอยู่ที่ว่า เราจะรักษาระดับอัตราค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงจนเกิดผลกระทบต่อประชาชนและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้อย่างไร โดยเฉพาะการรักษาระดับค่าไฟฟ้าตลอดช่วง 10-15 ปีแรกของแผนให้ไม่เกิน 5 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ในบางทางเลือกที่คำนวณค่าไฟออกมาเบื้องต้นพบว่า ค่าไฟพุ่งขึ้นไปถึง 6 บาท/หน่วย ซึ่งเราต้องตัดทางเลือกดังกล่าวทิ้งไปทันที ตรงนี้ขึ้นอยู่กับประชาชนด้วยว่า จะเลือกโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างไร โดยขณะนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุดอยู่"
นายเสมอใจกล่าวเพิ่มเติมว่าหากพิจารณาทางเลือกที่ 3 หรือการเน้นไปที่พลังงานทดแทนและการซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน ทาง สนพ.พบว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าของพลังงานทดแทนค่อนข้างสูง จึงต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่มีต้นทุนผลิต 2.60 บาท/หน่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเฉลี่ยอัตราค่าไฟไม่ให้สูงมากเกินไป
แต่ยังมีข้อกังวลว่า การพึ่งพาไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านมากไปอาจจะมีความเสี่ยงด้านความมั่นคง ในขณะที่ทางเลือกที่ 1 การใช้ก๊าซ ประชาชนยอมรับ แต่อัตราค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาก๊าซตลอด
ส่วนสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) ตามแผน PDP ฉบับใหม่ จะรักษาสัดส่วนการผลิตไว้ที่ระดับ 50 : 50 ต่อไปหรือไม่นั้น หากพิจารณาศักยภาพของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ IPP ในปัจจุบันที่มีทั้งเงินลงทุนและเทคโนโลยีแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า ในระดับนโยบาย "อาจจะ" ปรับสัดส่วนใหม่ เช่น 60 : 40 ก็เป็นได้ เพราะปัจจุบันกำลังผลิตใหม่ของ กฟผ.ยังไม่สามารถพัฒนาได้
"การคงสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าไว้ที่ 50 : 50 ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่เกิดไฟฟ้าดับ ที่ผ่านมาก็เคยดับแล้วในพื้นที่ภาคใต้ กระทรวงพลังงานพยายามให้อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการแข่งขันกันมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่เป็น SPP หรือ IPP กฟผ.เองก็มีการตั้งบริษัทลูก ไม่ว่าจะเป็น EGCO และ RATCH ที่ สนพ.มองคือ กฟผ.ได้เปรียบคนอื่น ๆ ค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของที่ดินที่มีรวมกว่า 1,000 ไร่"
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อัตราค่าไฟฟ้าในอนาคตจะต้องสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วย เพราะเมื่อพิจารณาจากอัตรา
ค่าไฟในปัจจุบัน (3.96 บาท/หน่วย) ถือว่าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมค่อนข้างมาก และไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่อาจจะกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไปจนไม่จูงใจ
แต่หากมีการใช้พลังงานที่ช่วยปรับเพิ่มสมรรถนะในการผลิตได้แต่ต้องเพิ่มต้นทุนก็จะต้องมาเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดอีกว่าต้นทุนคู่แข่งเป็นอย่างไร ทั้งในประเทศและตลาดโลก โดยราคาต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมต้องสอดคล้องกันทั้งต้นทุนพลังงานและเสถียรภาพของพลังงานที่ใช้ คงต้องดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่ชัดเจนอีกครั้งว่าภาพรวมของราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตจะเป็นอย่างไร
นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอนาคต จะต้องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจของโลก สำหรับผู้ประกอบการจะต้องมีความพร้อมรับมือ เพราะราคาพลังงานเป็นสิ่งที่จะต้องปรับตัวขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่อาจจะมากน้อยหรือช้าเร็วก็ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย
ส่วนการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมนั้นมองว่าพลังงานทุกชนิดมีความแตกต่างกัน เช่น ถ่านหินก็ยังมีความจำเป็นในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้หม้อต้มขนาดใหญ่ หากใช้แก๊สจะเป็นการเพิ่มต้นทุน ส่วนการขนส่งก็ยังต้องใช้แก๊สและส่วนพลังงานทดแทนอื่น ๆ ก็ควรนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมตามความเหมาะสม นอกจากนี้ก็คงจะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน เพื่อการแข่งขันในตลาดโลก
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ 13 พ.ค. 57 11.22 น.
» Do not allow new products at this time.