Categories
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วานนี้ (16 ก.ค.) ได้ปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (ปี 2555-2564) หรือ AEDP ใหม่ โดยเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่ม ขึ้นทุกประเภททั้งพลังงานก๊าซชีวภาพ จากหญ้าเนเปียร์ พลังงานโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอาคาร พร้อมกำหนดอัตรารับซื้อไฟราคาพิเศษ และเร่งรัดสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้
สำหรับเป้าหมายใหม่ในการใช้พลังงานทดแทน เพื่อผลิตไฟฟ้านั้น นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กพช.มี มติให้ขยายการรับซื้อเพิ่มอีก 4,726 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายเดิม 13,927 เมกะวัตต์ ในทุกประเภท ทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังงานจากขยะ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ
"การเพิ่มเป้าหมายการรับซื้อพลังงานทดแทน เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชน และสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนใน ประเทศ สำหรับการเปิดรับข้อเสนอขายไฟฟ้ารายใหม่ จะใช้รูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ตามปริมาณรับซื้อที่จะมีการประกาศเป็นรายเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป "
สำหรับก๊าซชีวภาพ เพิ่มขึ้นจากเดิมมากที่สุด 3,000 เมกะวัตต์ เป็นการปรับเพิ่มจากพืชพลังงานโดยเฉพาะหญ้าเนเปียร์ซึ่งกระทรวงพลังงานจะจัด ตั้งต้นแบบโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพขนาด 1 เมกะวัตต์ จำนวน 12 โรง กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อเป็นต้นแบบ และขยายผลไปสู่ เป้าหมายต่อไป
ส่วน พลังงานลมที่ปรับเป้าหมายรับซื้อเพิ่ม เป็นเพราะผลการสำรวจล่าสุด พบว่ามีพื้นที่ในหลายจังหวัด ที่มีศักยภาพ อาทิ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ระนอง สุราษฎร์ธานี
พลังงานแสงอาทิตย์ที่ปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้น 1,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับแผนส่งเสริมให้มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บน หลังคาอาคาร กำหนดเป้าหมาย 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นบ้านอยู่อาศัย 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจขนาดเล็ก กลาง และใหญ่อีก 100 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชนอีก 800 เมกะวัตต์
โดยที่ประชุม กพช. เห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FIT สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) ระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ กลุ่มบ้านอยู่อาศัย ขนาดกำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่า 10 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.96 บาทต่อหน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกำลังผลิต 10-250 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.55 บาทต่อหน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง -ใหญ่ ขนาดกำลังผลิต 250-1,000 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.16 บาทต่อหน่วย มาตรการสนับสนุนดังกล่าวกระทบค่าไฟฟ้า 0.5 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า รวมถึงหลักเกณฑ์และการออกประกาศเชิญชวน พร้อมกำหนดอัตราการลดหย่อนค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง สำหรับกลุ่มบ้านอยู่อาศัย
สำหรับการส่งเสริมให้ชุมชนผลิตไฟฟ้าจากแสง อาทิตย์ชุมชน 800 เมกะวัตต์นั้น โดยให้กระทรวงพลังงานร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติใน การผลักดันโครงการดังกล่าว โดยกระทรวงพลังงานกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษให้กับชุมชนที่เข้าโครงการ โดย ปีที่ 1-3 ระบบ FIT อัตรา 9.75 บาทต่อหน่วย ปีที่ 4-10 อัตรา 6.50 บาทต่อหน่วย ปีที่ 11-25 อัตรา 4.50 บาทต่อหน่วย โดยจะให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2557 คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2557
"การสนับสนุนโครงการนี้ จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าประมาณ 3.63 สตางค์ต่อหน่วย แต่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนตลอด 25 ปี ประมาณ 79.5 ล้านบาทต่อชุมชน แบ่งเป็นในปีที่ 1-3 จำนวน 2.04 ล้านบาทต่อชุมชนต่อปี ปีที่ 4-10 จำนวน 1.97 ล้านบาทต่อชุมชนต่อปี และในปีที่ 11-25 จำนวน 3.97 ล้านบาทต่อชุมชนต่อปี "
โดยที่ประชุมให้กำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจาก พลังงานหมุนเวียนในแต่ละปีให้ ชัดเจน และกำหนดวันเริ่มซื้อขายไฟให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภท เชื้อเพลิง รวมถึงสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (แผนพีดีพี) พร้อมกับเห็นชอบให้ กกพ. ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หลักเกณฑ์และการออกประกาศเชิญชวน กำกับดูแลขั้นตอนการคัดเลือก รวมถึงการเร่งรัดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามเป้าหมาย AEDP และรายงานผลให้กระทรวงพลังงานทราบเป็นรายไตรมาส
รวมทั้งให้ กฟผ.ร่วมกับ กกพ. แก้ไขปัญหาต่างๆ รองรับการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการพลังงานหมุนเวียน ที่มีสัญญาซื้อขายแล้วอย่างเร่งด่วนและรายงานผลให้ กพช. ทราบ พร้อมให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จัดทำแผนการลงทุนระบบส่งไฟฟ้าและระบบจำหน่ายไฟฟ้า รองรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต โดยนำเทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้า หรือ Smart Grid มาประกอบการจัดทำ ขณะเดียวกันให้ กกพ. เร่งรัดออกใบอนุญาตสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และรายงานผลต่อกพช.
"การ วางมาตรการดังกล่าว เนื่องจากคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้รายงานปัญหา อุปสรรค อาทิ ปัญหาการเสนอขายไฟฟ้าเกินเป้าหมายตามแผน AEDP กำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าและวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแต่ละปีไม่สอดคล้องกับแผน พีดีพี ปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาต "
สำหรับการแก้ปัญหาขาดแคลน ไฟฟ้าภาคใต้นั้น เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มชั่วโมงการเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่เต็มกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ และเปิดให้ใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 10% ของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเตา เพื่อลดปัญหาการขนส่งน้ำมัน เนื่องจากมีวัตถุดิบในพื้นที่ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ให้ถือเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และมอบหมายให้ กกพ. คำนวณต้นทุนต่อไป
» Do not allow new products at this time.