Categories
ก.อุ ตฯ-ก.พลังงาน เคลียร์โซลาร์รูฟท็อปจบ กำลังผลิตไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ไม่ต้องขอใบ รง.4 เดินหน้าส่งเสริมพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาฯ ด้านเอกชนเฮ เร่งเดินหน้าติดตั้งแผงโซลาร์ อ้อน ก.พลังงาน เปิดโครงการใหม่เพิ่ม
นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าในประเด็นที่ยังคงมีความเห็นแย้งกันระหว่างกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรมว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) นั้น ล่าสุดในการหารือนอกรอบ ทั้ง 2 กระทรวงสรุปร่วมกันว่า สำหรับโซลาร์รูฟท็อปกำลังผลิตไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ไม่จำเป็นต้องขอใบ รง.4 ส่วนกำลังผลิตที่มากกว่านั้นจะต้องดำเนินการขอใบ รง.4 กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามเดิม
เพื่อให้ขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายต่อไปนั้น ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการออกประกาศเพิ่มเติมเพื่อ "ยกเว้น" ให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่กำลังผลิตไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ไม่จำเป็นต้องขอใบ รง.4 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้ง และเพื่อความมั่นใจของกรมโรงงานฯด้วยว่า ไม่ได้ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535
"ทั้ง 2 กระทรวงก็ต้องมองถึงประโยชน์ภาพรวม ประเทศมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ตรงจุดใดที่เป็นช่องโหว่ก็ต้องแก้ปัญหาร่วมกัน ตรงจุดใดที่กรมโรงงานฯกังวล ก.พลังงานก็สามารถไปเพิ่มเติมนโยบายเสริมขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลได้ รวมถึงยังมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำกับดูแลเข้มงวดตามเงื่อนไขอยู่แล้ว"
ด้านนางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน ถือว่า กกพ.มีอำนาจชอบธรรมที่จะออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโซลาร์เซลล์ เพราะโดยกลไกของโซลาร์รูฟท็อปไม่เหมือนกับรูปแบบของโรงงาน เมื่อทั้ง 2 กระทรวงชัดเจนในเรื่องใบอนุญาตแล้ว มองว่าจะยิ่งเป็นผลดีต่อการส่งเสริมพลังงานทดแทนของประเทศ เพราะเมื่อการติดตั้งในโครงการโซลาร์รูฟท็อปสามารถเดินหน้าติดตั้งได้ทั้งหมดรวม 200 เมกะวัตต์ นั่นเท่ากับว่ากระทรวงพลังงานอาจจะตัดสินใจขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพิ่มเติม
เนื่องจากตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ร้อยละ 25 ใน 10 ปี (55-64) หรือ AEDP (Alternative Energy Development) มีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีกำลังผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์รวม 3,000 เมกะวัตต์
"ตอนนี้โรงงานผลิตของโซลาร์ตรอนต้องเดินเครื่องผลิตอย่างเต็มที่ เพราะลูกค้าทยอยติดตั้งแผงโซลาร์เพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจะรับติดตั้งแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นการขายแผงให้กับผู้รับเหมาช่วงด้วย รวมถึงลูกค้าค่อนข้างไว้วางใจในเรื่องการบริการหลังการขายที่หากเกิดปัญหาที่ตัวแผงสามารถส่งผู้เชี่ยวชาญแก้ไขได้ทันที"
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Pv Rooftop) ไม่ถือเป็นโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แย้งประกาศดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานฯ ไม่ได้ครอบคลุมถึงการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมถึงการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน จึงจำเป็นต้องขอใบอนุญาต รง.4 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งรายละเอียดให้คณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นดังกล่าวเช่นกันก่อนหน้า
» Do not allow new products at this time.