Categories
ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) เปิดเผยความคืบหน้าการออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติด ตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า
กกพ.ได้จัดทำระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ.2556แล้วเสร็จ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการจะยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก มาก (วีเอสพีพี) ที่ประสงค์จะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป
โดยจะออกประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ.2556 เพื่อเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าว สามารถยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปให้กับการไฟฟ้า ฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.))ได้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน ถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2556เวลา 09.00 – 15.00 น.และจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าที่ผ่านการคัดเลือกตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2556เป็นต้นไป
ทั้งนี้ตามระเบียบดังกล่าว ได้กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปที่จ่ายไฟฟ้า เข้าระบบไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ในปริมาณการรับซื้อที่ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 200 เมกะวัตต์แบ่งเป็นบ้านอยู่อาศัยที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 0-10 กิโลวัตต์ รวมทั้งสิ้น 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ ที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 10-1,000 กิโลวัตต์ อีก 100 เมกะวัตต์ โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า ตามอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนจริง หรือฟีดอินทรารีฟ 25 ปี นับจากกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) โดยแบ่งเป็นกลุ่มบ้านอยู่อาศัย รับซื้ออัตรา6.96 บาทต่อหน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็ก รับซื้ออัตรา 6.55 บาทต่อหน่วย และกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง -ใหญ่ รับซื้ออัตรา6.16 บาทต่อหน่วย
โดยคุณสมบัติของผู้ที่สามารถยื่นคำขอเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโซลาร์รู ฟท็อป จากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายว่า จะต้องเป็นเจ้าของอาคาร หรือได้รับการยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของอาคาร หรือมีสัญญาเช่า โดยอาคารนั้นจะต้องไม่เคยติดตั้งแผงโฟโตเวลเทอิก (Photovoltaic Panel) มาก่อน และอาคารที่ติดตั้งแผงโฟโตเวลเทอิก ต้องมีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (Meter) ซื้อไฟฟ้าอยู่แล้ว ตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มประเภท อาคารที่กล่าวมาข้างต้น และต้องไม่เป็นหน่วยงานภาครัฐ โดยผู้ที่ประสงค์จะยื่นขายไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยสามารถยื่นคำขอขายไฟฟ้า ได้ไม่เกิน 10 แบบคำขอต่อครั้งที่ยื่น และสำหรับกลุ่มอาคารธุรกิจหรือโรงงานสามารถยื่นคำขอขายไฟฟ้าได้ไม่เกิน 1 แบบคำขอต่อครั้งที่ยื่น นอกจากนี้ ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก จะต้องระบุวัน SCOD ที่ชัดเจนและอยู่ภายในกรอบเวลา SCOD ที่กำหนดในประกาศการรับซื้อไฟฟ้า ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเรียงลำดับคำขอขายไฟฟ้าตามวัน และเวลาที่ได้รับเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์เป็นสำคัญ
“ สำหรับแนวทางการกำกับดูแลการคัดเลือกผู้ขายไฟฟ้าในระบบโซลาร์รูฟท็อป จะใช้วิธีการคัดเลือกโดยเรียงลำดับตามคำขอขายไฟฟ้าที่ได้รับเอกสารที่ครบ ถ้วนสมบูรณ์ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด ใครมาก่อนและมีความพร้อมจะได้รับสิทธิ์ก่อน ถ้าในกรณีที่มีผู้ยื่นคำขอจำนวนมากมารอก่อนเวลาที่การไฟฟ้าจะเปิดรับคำขอ (เวลา 9.00 น.) จะให้การไฟฟ้าดำเนินการจับสลาก เพื่อจัดลำดับคิวของการยื่นคำขอ ดังนั้น ผู้ที่มารอก่อนเวลามากๆ อาจจะไม่ใช่ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการยื่นคำขอก่อน จากนั้นการไฟฟ้าจะทำการเรียงคำขอแต่ละพื้นที่จนครบ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้สนใจจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทุกราย โดยการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานทดแทน แทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว ฉบับใหม่ หรือ พีดีพี 2013 ที่ต้องการปรับสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติให้เหลือ 45% จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ประมาณ 70% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ซึ่งในระยะสั้นอาจจะทำให้ราคาไฟฟ้าปรับขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่หากมองในระยะยาว จะเกิดความคุ้มค่าทั้งในด้านราคา และในด้านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ”ศ.กิตติคุณ ดร.ดิเรก กล่าว
ขณะที่นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( กฟภ.) กล่าวว่า กฟภ.จะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 120 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 1.ประเภทบ้านอยู่อาศัยขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ แยกตามพื้นที่แต่ละการไฟฟ้าเขตทั้ง 12 เขตของ กฟภ. เขตละ 5 เมกะวัตต์ โดยผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขอขายไฟฟ้าได้ที่ กฟภ.ทั้ง 12 เขตตามแต่ละพื้นที่ที่จะติดตั้ง และประเภทอาคารธุรกิจหรือโรงงานขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์โดยรับซื้อภาคละ 15 เมกะวัตต์ ต้องมายื่นที่สำนักงานกลาง กฟภ. เท่านั้น
“ กฟภ.ได้เตรียมความพร้อมโดยได้จัดบุคลากรและสถานที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนของ การไฟฟ้าเขตในแต่ละพื้นที่ เพื่อรองรับการยื่นเอกสารของผู้ที่สนใจไว้แล้ว โดยหลังจากที่มีการยื่นขอขายไฟฟ้าจากผู้ที่สนใจเข้ามาทาง กฟภ.จะได้เร่งรัดตรวจสอบรายละเอียดทางเทคนิคของระบบจำหน่ายที่มีการยื่นขอ ขายไฟฟ้า หากรองรับได้จะได้ประกาศรายชื่อผู้ได้สิทธิตามกำหนดการต่อไป” นายนำชัย กล่าว
นายวิรัต จันทร์ศิริวัฒนา รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่ากฟน.จะรับผิดชอบการรับซื้อไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม80 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ประเภทบ้านอยู่อาศัย ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 0-10กิโลวัตต์ จำนวน 40 เมกะวัตต์ และประเภทอาคารธุรกิจหรือโรงงาน จำนวน 40 เมกะวัตต์ แยกเป็น อาคารธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10-250 กิโลวัตต์ และ อาคารธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ โรงงาน ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 250-1,000 กิโลวัตต์ซึ่งขณะนี้ กฟน.มีความพร้อม ในการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และสถานที่ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะแยกการรับคำขอขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปออกจากการให้บริการอื่นๆของ กฟน.เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ
โดยผู้สนใจจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟน. สามารถยื่นคำขอขายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับ กฟน. พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาได้ที่แผนกบริการ ที่ทำการ กฟน.ทั้ง 18 เขต ในพื้นที่ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ตามวันและเวลาที่ระบุ สำหรับแบบคำขอขายไฟฟ้า ตลอดจนรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถ Download ได้ที่ website :www.mea.or.thหรือ สอบถามได้ที่ Call Center 1130
ที่มา: http://www.thannews.th.com
วันพฤหัสบดีที่ 05 กันยายน 2013 เวลา 16:51 น.
» Do not allow new products at this time.