User Online

User Online: 12
Today Accessed: 424
Total Accessed: 456144
Your IP: 3.22.242.169

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน แถลงข้อเสนอปฏิรูปพลังงาน เน้นส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชนและครัวเรือน ให้มีการประกาศใช้ภายใน2ปี พร้อมเสนอบูรณาการการทำงานร่วม3การไฟฟ้าคือ กฟผ. กฟน. PEA โดยกำหนดให้มีระเบียบ Third Party Access ของระบบส่งและระบบจำหน่าย และส่งเสริมกิจการจำหน่าย (Retail) ภายใน 1 ปี

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดแถลงข่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมการที่จัดทำเป็นแผนแม่บทแล้วเสร็จ ก่อนจะส่งต่อให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ เพื่อนำเสนอเป็นภาพรวมต่อคณะรัฐมนตรี ภายในเดือน ก.พ. ก่อนจะเสนอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณา และประกาศใช้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว ในเดือนเม.ย. 2561นี้

โดยสาระสำคัญของข้อเสนอปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน จะเน้นในเรื่องของการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทางพลังงานไฟฟ้าของไทย ซึ่งในส่วนของการปฏิรูปส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มการแข่งขันนั้น จะส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชนและครัวเรือน โดยกำหนดจัดทำร่างระเบียบการส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทน และประกาศใช้ ภายใน 2 ปี พร้อมเสนอแนะรูปแบบการปรับปรุงกิจการไฟฟ้าทั้งระบบเพื่อรองรับรูปแบบกิจการไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น Prosumer/ Retail/ TPA ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องเร่งกำหนดรูปแบบโครงสร้างกิจการไฟฟ้าที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยจะศึกษาการปรับปรุงกิจการไฟฟ้าทั้งระบบ ภายในระยะเวลาปีครึ่ง

ทั้งนี้ ในโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้า จะเสนอให้มีการบูรณาการ การทำงานร่วม 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) โดยศึกษาความเหมาะสม วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย การส่งเสริมและจัดทำระเบียบและกฎเกณฑ์สำหรับ Third Party Access ของระบบส่งและระบบจำหน่าย รวมถึงการส่งเสริมกิจการจำหน่าย (Retail) เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้นในระบบไฟฟ้า โดยกำหนดให้มีระเบียบ Third Party Access ของระบบส่งและระบบจำหน่าย และส่งเสริมกิจการจำหน่าย (Retail) ดังกล่าว ภายใน 1 ปี

โดยการปฏิรูปโครงสร้างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) เสนอให้จัดทำ PDP ใหม่ที่คํานึงถึงความสมดุลรายภาค ปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้า และมุ่งเพิ่มความมั่นคงระบบไฟฟ้าสำหรับจุดที่มีความเสี่ยงและมีความสำคัญต่อประเทศชาติ โดยประเด็นที่ต้องพิจารณา อาทิ กำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่สมดุลและความเสี่ยงของการจัดหาเชื้อเพลิงทั้งระบบ ความสามารถพึ่งพาตนเองของประเทศในการผลิตไฟฟ้า กำลังผลิตสำรองที่เหมาะสม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระจายระบบผลิตและบริหารแหล่งเชื้อเพลิงตามภูมิภาค ผลิตไฟฟ้าใช้เองของผู้ใช้ไฟฟ้า (Prosumer) ข้อมูลระบบส่งไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงและประสิทธิภาพด้านระบบไฟฟ้า โครงสร้างค่าไฟฟ้าทั้งระบบ นำ TOU มาใช้สำหรับกิจการทุกประเภท โดยจะศึกษาข้อมูลสำคัญ 1 ปี จัดทำ PDP ใหม่ ภายใน 2 ปี และหน่วยงานนำแผนไปดำเนินการตั้งแต่ปีที่ 3

สำหรับการปฏิรูปองค์กรเสนอให้มีการสร้าง Code of Conduct หน่วย นโยบาย-กำกับ-ปฏิบัติ เพื่อสร้างความชัดเจนและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน สร้างระบบ KPI ติดตามประเมินผลสำนักงาน กกพ. และเพิ่มประสิทธิภาพ โดยสำนักงาน กกพ. ควรปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้ครบถ้วนมี Code of Conduct และดำเนินการได้ใน 2 ปี

เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศด้านพลังงานเชื่อมโยงระบบสารสนเทศ (เชื่อมฐานข้อมูลกลาง /เชื่อมหน่วยงานผ่าน GIN) และจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติฐานข้อมูล สมบูรณ์และมีมาตรฐานเดียวกัน เชื่อมโยงระบบและมีศูนย์ภายใน 2 ปี ส่วนประเด็นการสร้างธรรมาภิบาล เสนอให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐอย่างเป็นทางการโดยแต่งตั้งคณะกรรมการภาคประชาสังคม ให้ความเห็นและเสนอแนะคณะกรรมการต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน ภายใต้คำสั่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย คือ ผู้ใช้ ผู้ผลิต นักวิชาการ ภายในระยะเวลา 1 ปี

ส่วนการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มีเงื่อนไขว่าต้องมีการพิจารณากำหนดพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอ ผ่านการรับรองระดับจังหวัด และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะกรรมการ และดำเนินการให้ได้พื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าที่ประชาชนเสนอใน 2 ปี

สำหรับการจัดสรรค่าภาคหลวงสู่ชุมชน เสนอให้เพิ่มสัดส่วนรายได้ให้พื้นที่ผลิตฯ และพื้นที่ทั่วประเทศเน้นกระจายลงสู่ อบต./เทศบาล และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและกระจายสู่ อบต. ทั่วประเทศ ในฐานะปิโตรเลียมเป็นของรัฐ โดยแก้กฎหมายการจัดสรรค่าภาคหลวงให้เหมาะสมภายใน 3 ปี

ในส่วนการปฏิรูปประเทศด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีนั้น เสนอให้มีการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้มีความต่อเนื่องและไม่เกิดการหยุดชะงัก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติ นำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจพลังงาน สร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการ ซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค โดยศึกษาการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น Reginal LNG Hub ภายใน 1 ปี

คณะกรรมการยังเสนอการพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกและเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการใช้ local content และการค้าการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน ให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนผลิตปิโตรเคมีชนิดพิเศษ และผลิตภัณฑ์ขั้นปลายที่มีมูลค่าสูง กำหนดจัดทำแผนการพัฒนา ภายใน 2 ปี

พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ให้มีการลงทุนอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีต้นน้ำ และการปรับปรุงโรงกลั่นเพื่อผลิตวัตถุดิบปิโตรเคมี ทบทวนการจัดสรรสัดส่วนและเพดานการปล่อยมลพิษทางอากาศ ให้สิทธิประโยชน์ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน/สาธารณูปโภค สนับสนุนการวิจัย/พัฒนาและการลงทุนโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) พัฒนาและเตรียมคนเพื่อรองรับ โดยให้จัดทำแผนการพัฒนาที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกภายใน 2 ปี เสนอให้กำหนดพื้นที่ใหม่สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะยาว ศึกษาเพื่อกำหนดกรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในระยะยาว

นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรี โดยปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ มาตรการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟเสรีและมีแนวทางสนับสนุน มาตรฐาน การบริหารจัดการ โดยกำหนด KPI ว่าภายใน 5 ปี จะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟได้อย่างแพร่หลายทั้งบนหลังคาบ้าน และอาคารพาณิชย์ มีกฎหมาย ระเบียบ ประกาศต่างๆ เพื่อรองรับ อำนวยความสะดวกในการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรีที่ลดขั้นตอน ลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าปัจจุบัน และมีการให้บริการแบบ One Stop Service ในการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์รูฟ

ส่วนการปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน นั้นเสนอจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติศึกษากำหนดทิศทางการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจน ประกาศเป้าหมายการพัฒนาและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ปรับปรุงแผนด้านพลังงานและการจัดหาพลังงานเพื่อรองรับ จัดทำแผนปฏิบัติการ และจัดทำแนวทางสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ภาคเอกชน

รวมทั้งการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน เพื่อให้ประเทศไทยมีทิศทางการส่งเสริมการลงทุน และมีการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กพช.) ศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงาน เป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ และการกำหนดแผนการนำมาใช้ในระบบสายส่งในภาคพลังงาน จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงาน และปรับปรุงการวางแผนด้านพลังงาน ได้แก่ PDP, EEP ให้มีการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ

ที่มา: http://www.energynewscenter.com/index.php/news/detail/1100

Date : 18/01/2018, 18:16


Home

Home

สินค้าใหม่

» ไม่มีสินค้าใหม่ในเวลานี้