User Online

User Online: 11
Today Accessed: 333
Total Accessed: 456067
Your IP: 18.119.28.173
สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมเสนอผลการศึกษาแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)แบบเสรี ต่อกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ปลายเดือน ส.ค.นี้ โดยผลการศึกษาเบื้องต้นระบุการรับซื้อเข้าระบบขั้นต่ำปีละ 300 เมกะวัตต์ รวม6,000 เมกะวัตต์จนถึงปี2579 จะส่งผลกระทบน้อยมากต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน  
 
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า  ผลการศึกษาโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)แบบเสรี  ซึ่งสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ให้ดำเนินการนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการเกือบ 100% แล้ว เหลือเพียงส่วนของการรับฟังความเห็นเพิ่มเติมและจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ คาดว่าจะนำเสนอ ต่อ พพ. ได้ในช่วงปลายเดือน ส.ค. 2560 นี้ 
 
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ทางสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ได้ศึกษาใน 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1. ในด้านนโยบาย ว่าควรเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปส่วนเกินจากความต้องการใช้เข้าระบบสายส่งไฟฟ้าหรือไม่ และหากจำเป็นต้องรับซื้อจะใช้วิธีการใด 2.การส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปเสรีจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชน หรือไม่ อย่างไร และ3.ผลกระทบทางเทคนิค จะก่อให้เกิดปัญหาทางเทคนิคกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแค่ไหน และจะแก้ไขด้วยหลักวิศวกรรมอย่างไร 
 
ซึ่งในเบื้องต้น ในด้านนโยบายนั้น ทางสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ  ได้ทำการศึกษากรณีรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบ แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ คือทยอยรับซื้อไฟฟ้าประมาณ 300 เมกะวัตต์ต่อปี  ไปจนสิ้นสุดปี 2579 (สิ้นสุดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP 2015)จะมีปริมาณรับซื้อรวม 6,000 เมกะวัตต์ และ 2.กรณีรับซื้อไฟฟ้าขั้นสูง คือทยอยรับซื้อไฟฟ้าประมาณ 600 เมกะวัตต์ต่อปี จนสิ้นสุดปี 2579 จะมีปริมาณรับซื้อรวม 12,000 เมกะวัตต์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ผลศึกษาเบื้องต้นระบุซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเสรีปีละ300 เมกะวัตต์ส่งผลกระทบน้อยมาก
 
โดยในกรณีทยอยรับซื้อไฟฟ้าปีละ 300 เมกะวัตต์ ไปจนถึงปี 2579 คิดเป็น 2% ของการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าจะส่งผลกระทบต่อการไฟฟ้าน้อยมากโดยไม่ต้องลงทุนระบบเพิ่มเติม และไม่ส่งผลกระทบค่าไฟฟ้าประชาชนโดยรวมมากนัก  ทั้งนี้ ประสบการณ์จากต่างประเทศซึ่ง International Energy Agency ได้วิเคราะห์ไว้พบว่าหากไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมออย่างโซลาร์รูฟท็อปเข้าระบบไม่เกิน 5% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ จะยังไม่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของระบบไฟฟ้า แต่หากปริมาณไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟเข้าสู่ระบบไฟฟ้าเกินกว่า 10% การไฟฟ้าจะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนระบบให้สามารถเดินเครื่องได้อย่างยืดหยุ่นขึ้น
 
นอกจากนี้การผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเริ่มมีข้อดีเรื่องต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยหากส่งเสริมด้วยมาตรการและระดับที่เหมาะสมสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศลงได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเริ่มต่ำกว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยปัจจุบันต้นทุนค่าไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปอยู่ระหว่าง 3.24-3.33 บาทต่อหน่วย ซึ่งแข่งขันได้แล้วกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก โรงไฟฟ้าก๊าซฯ LNG ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย
 
ดังนั้นหากช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ภาครัฐสามารถเลือกรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเข้ามาแทนที่โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนแพง ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประชาชนลดลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีความไม่สม่ำเสมอ ทำให้ภาครัฐต้องวางแผนการลงทุนและการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในระยะยาวเพื่อให้สามารถได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ถูกลงของเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ และในขณะเดียวกันก็สามารถรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไว้ได้
 
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาดังกล่าว เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นที่ทางพพ.มอบหมายให้ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ดำเนินการ เท่านั้น ส่วนจะมีการเปิดรับซื้ออย่างไร จะขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงานเป็นสำคัญ 
 
ที่มา: http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/886
 
Date : 13/08/2017, 14:56. โซลาร์รูฟท็อปเสรี
 

Home

Home

สินค้าใหม่

» ไม่มีสินค้าใหม่ในเวลานี้