User Online

User Online: 2
Today Accessed: 325
Total Accessed: 456060
Your IP: 3.16.47.126
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เตรียมนำโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)เสรี เข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่มี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ในวันที่ 4 ต.ค.2560 โดยราคารับซื้อจะแตกต่างระหว่างบ้านที่อยู่อาศัยและโรงงาน และต้องต่ำกว่าราคาขายส่งที่กฟผ. ขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง  รวมทั้งระยะแรกจะรับซื้อไม่ถึง1,000เมกะวัตต์  ในขณะที่จะเปิดให้โครงการนำร่องก่อนหน้านี้ สามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินได้ 
 
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ.เตรียมนำโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)เสรี เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่มี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ในวันที่ 4 ต.ค.นี้ เพื่อพิจารณารายละเอียดและกำหนดรูปแบบโครงการ
 
โดยเบื้องต้น โครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี จะทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะ  ซึ่งระยะแรก คาดว่าจะรับซื้อไม่ถึง 1,000 เมกะวัตต์ และราคารับซื้อจะแตกต่างกันระหว่างภาคบ้านอยู่อาศัย กับโรงงานและอาคารพาณิชย์ เพราะมีต้นทุนติดตั้งแตกต่างกัน   อย่างไรก็ตามราคารับซื้อจากทุกกลุ่มจะต้องต่ำกว่าราคาขายส่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ขายให้กับการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA)
 
นายประพนธ์ กล่าวว่า โครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี จะยังคงใช้หลักการเดียวกับโซลาร์รูฟท็อปนำร่อง 100 เมกะวัตต์ที่เปิดโครงการไปเมื่อปี 2559 คือจะเน้นการผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นหลัก ส่วนที่เหลือสามารถขายเข้าระบบได้ และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า รวมถึงต้องช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ช่วงกลางวัน ขณะเดียวกันอาจพิจารณาให้โครงการนำร่องที่มีผู้ร่วมโครงการ 38.38 เมกะวัตต์ สามารถเข้าร่วมขายไฟฟ้าส่วนเกินได้
 
โดยหาก กบง. อนุมัติรูปแบบโซลาร์รูฟท็อปเสรีแล้ว จะต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบโครงการอีกครั้ง จากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะจัดทำรายละเอียดและกำหนดกติกาต่างๆ เพื่อออกประกาศเปิดโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีต่อไป ซึ่งแต่ละพื้นที่จะกำหนดสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้าโดยจะพิจารณาจากความสามารถของสายส่งเป็นหลัก
 
ก่อนหน้านี้ พพ.ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิเคราะห์ โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรี 100 เมกะวัตต์ และเสนอให้กระทรวงพลังงาน ตัดสินใจเดินหน้าโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี โดยกำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1. รับซื้อ 6,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 หรือ 300 เมกะวัตต์ต่อปี จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า 0.7-1.4 สตางค์ต่อหน่วย 
 
กรณีที่2 รับซื้อ 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 หรือ 600 เมกะวัตต์ต่อปี จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า 1.4-2.8 สตางค์ต่อหน่วย และกรณีที่3 รับซื้อ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 หรือ 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า 0.8-1.4 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งทั้ง 3 กรณีส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3 สตางค์ต่อหน่วย โดย พลเอก อนันตพร ได้สั่งการให้ พพ.และจุฬาฯ ประมวลผลโครงการให้ชัดเจนอีกครั้งก่อนนำเสนอ กบง.พิจารณาในเดือน ต.ค.นี้
 
ที่มา: http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/943
  • Date : 24/09/2017, 19:08.

Home

Home

สินค้าใหม่

» ไม่มีสินค้าใหม่ในเวลานี้